Hakata machiya folk museum
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านฮะคะตะประกอบด้วยบ้าน 3 หลัง เพื่อจัดแสดงวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมของชาวฮะคะตะในยุคเมจิ (Meiji ปีค.ศ. 1868-1912) ถึงยุคไทโช (Taisho ปีค.ศ.1912-1926) เมื่อได้เห็นความเป็นเมืองหลวงของฟุคะโอะกะแล้ว อาจนึกภาพไม่ออกเลยว่าในอดีตเมืองนี้จะเป็นอย่างไร จึงต้องมาหาคำตอบที่นี่ เริ่มจากคำว่ามะจิยะ (Machiya) ที่หมายถึงบ้านไม้แบบดั้งเดิมในยุคเมจิ มีจุดเด่นคือไม้ระแนงสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งพบได้มากตามย่านเมืองเก่าต่างๆ ที่นี่ก็เช่นเดียวกัน บ้านทั้ง 3 หลังที่เรียงต่อกันสร้างขึ้นใหม่ในปีค.ศ. 1995 ตามแบบดั้งเดิม โดยบ้านหลังที่ 1 ชั้น 1 จะเล่าเรื่องราวในอดีตที่ฮะคะตะเคยเป็นเมืองท่าด้วยภาพ มีมุมที่น่ารักคือโรงฉายหนังเล็กๆ พร้อมเก้าอี้ไม้เงาเป็นมัน ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นตู้กระจกที่จำลองบรรยากาศขบวนแห่ในงานรื่นเริงด้วยหุ่นผ้า ส่วนชั้น 2 จะแสดงการตกแต่งภายในด้วยข้าวของเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้าในยุคนั้นๆ เช่น พัดลม วิทยุ งานหัตถกรรมพื้นบ้าน หน้ากาก ผ้ามัดย้อมลวดลายสวยงาม ฯลฯ






บ้านหลังที่ 2 บ้านทอผ้า (Hakata weaving)
บ้านทอผ้า (Hakata weaving) แบบพื้นเมืองชาวฮะคะตะ พร้อมสาธิตวิธีการทอ และยังเปิดเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมงานฝีมือท้องถิ่นด้วย ความเก๋อยู่ที่หลังบ้าน ซึ่งเป็นสวนญี่ปุ่นอันเงียบสงบ พร้อมระเบียงไม้โดยรอบ และประตูกระดาษบานเลื่อน สะท้อนยุคสมัยในงานออกแบบบ้านที่เก็บความสวยงามไว้ชื่นชมภายในครอบครัว





บ้านหลังที่ 3 ร้านของที่ระลึก (Hakata souvenir shop)
ร้านขายของที่ระลึกที่เต็มไปด้วยของเล่นโบราณพื้นบ้าน เช่น ของเล่นไขลานสังกะสี หน้ากากพลาสติก ฯลฯ ขนมกินเล่น เช่น ลูกกวาด หมากฝรั่ง ฯลฯ ของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ สมุดบันทึก ปากกา ฯลฯ ข้าวของเครื่องใช้ เช่น กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์แบบหมุน ฯลฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อหุงข้าว ฯลฯ และเนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ต่อเนื่องจากยุคเมจิจนถึงยุคไทโชนี่เอง ทำให้ข้าวของหลายชิ้นยังคงมีความร่วมสมัยกับคนรุ่น 50’s – 80’s







ศาลเจ้าคุจิดะ (Kushida jinja) อายุกว่า 1,200 ปี
จากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านฮะคะตะมะจิยะ เพียงนิดเดียวจะพบเสาหินโทะริอิ (Torii) สัญลักษณ์ของศาลเจ้า เพื่อบ่งบอกว่ากำลังเข้าสู่เขตแดนศักดิ์สิทธิ์แล้ว ศาลเจ้าคุจิดะแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยเฮอัง (Heian ค.ศ.782 – 833) จึงมีอายุมากกว่า 1,200 ปี และยังมีศาลเจ้าคุจิดะอีกแห่งหนึ่งที่เมืองอิเสะ (Ise) จังหวัดมิเอะ (Mie) ด้วย ซึ่งชาวบ้านมักมาขอพรให้อายุยืน สุขภาพแข็งแรง และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
แต่เดี๋ยวๆ ต้องชำระจิตใจให้สะอาดที่บ่อน้ำก่อน วิธีปฏิบัติคือ
- ทำความสะอาดด้ามจับกระบวย ใช้กระบวยตักน้ำรินรดด้ามจับด้วยการหักข้อศอกให้น้ำไหลลงมา (มือขวา หรือซ้ายก็ได้ตามถนัด)
- ทำความสะอาดมือด้วยการใช้กระบวยตักน้ำล้างมือทีละข้าง
- ทำความสะอาดใบหน้า และบ้วนปาก ด้วยการใช้กระบวนตักน้ำรินลงมือข้าหนึ่ง แล้วล้างหน้า บ้วนปาก
- ทำความสะอาดกระบวนอีกครั้งด้วยวิธีเดิม แล้ววางคว่ำไว้เหมือนเดิมเพื่อให้คนอื่นมาใช้ต่อ





