
ใจกลางเมืองโอะอิตะมีพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยโอะอิตะที่แสดงนิทรรศการหมุนเวียน และนิทรรศการถาวร โดยจะประชาสัมพันธ์ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ผ่านโปสเตอร์ เช่น ในห้างสรรพสินค้า ในสถานีรถไฟ หรือบนขบวนรถไฟที่จะผ่านมายังเมืองนี้ และแน่นอน หนึ่งในขบวนรถไฟสายด่วน (Limited express) ที่มีสีฟ้าอันเจิดจ้านั้นคือโซนิค (Sonic) และช่วงที่เดินทางไปที่นี่นั้นกำลังจัดนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยพอดี จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรแวะเพื่อให้รู้ว่าพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยของประเทศนี้เป็นอย่างไร แถมอยู่ห่างจากสถานีรถไฟเพียง 20 นาทีด้วยการเดิน โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลท่องเทีี่ยวให้แผนที่ขณะอธิบายว่าจากหน้าสถานีรถไฟ ข้ามถนนเดินเข้าไปในตลาด เลี้ยวซ้ายตามหป้ายออกไปเชื่อมกับถนน จะพบอาคารโคะบัง (Koban) หรือสถานีตำรวจ ซึ่งบนชั้นสองของอาคารนี้จะมีทางเชื่อมกับพิพิธภัณฑ์










บริเวณห้องโถงชั้นล่าง ขณะนั้นแสดงศิลปะจัดวาง (Installation) ชุด The Eurasian garden spirits ของ Marcel wanders ศิลปินชาวฮอลแลนด์ผู้เป็นมากว่าหนึ่งอย่าง คือทั้งสถาปนิก นักออกแบบผลิตภัณฑ์ และนักออกแบบตกแต่งภายใน โดยผลงานที่เขานำมาแสดงคือบัลลูนยักษ์รูปไข่สูง 5 เมตร ซึ่งเต็มไปด้วยลวดลาย และสีสันอันฉูดฉาด โดยได้รับอิทธิพลจากภาพจิตรกรรมแบบฮอลแลนด์ที่รุ่งเรืองในศตวรรษที่ 17 มีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวสรรพสิ่งที่เปลี่ยนผันตามฤดูกาล โดยบัลลูนนั้นเปรียบเสมือนใบหน้า ขณะที่ลวดลายสีสันคือเรื่องราว ผลงานศิลปะติดตั้งชุดนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนด้านศิลปะสมัยใหม่ พร้อมๆ กับการเชื่อมความสัมพันธ์ของสองประเทศด้วย เพราะในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ชาวดัชต์เป็นชนชาติแรกๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แล้ว
ด้านหลังของกลุ่มบัลลูนที่ดูคล้ายกำแพงห้อง แท้จริงแล้วคือประตูบานเลื่อนที่เปิดเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ โดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นคุณชิเงรุ บัง (Shigeru ban) ได้ออกแบบด้วยการนำแนวความคิดนี้มาจากบ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ซึ่งจะมีพื้นที่รับรองแขก (Engawa) ก่อนเข้าสู่ตัวบ้านอันเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ในที่นี่บริเวณที่แสดงศิลปะติดตั้งจึงเป็นส่วนรับรองแขก และพิพิธภัณฑ์คือพื้นที่ในบ้าน ซึ่งประกอบด้วยส่วนนิทรรศการถาวร และนิทรรศการหมุนเวียน นิทรรศการถาวรแบ่งเป็น 7 โซน เช่น โซน Collections เป็นการรวบรวมภาพจิตรกรรมแนวโรแมนติค (Romanitism) ของศิลปินท้องถิ่นของจังหวัดโอะอิตะในยุคเอโดะ ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้มีโอกาสศึกษาผลงานชั้นครูว่าเป็นอย่างไร หรือโซน Oita’s modern art ก็เป็นการรวบรวมผลงานศิลปะในประวัติศาสตร์ ไล่ตั้งแต่ยุคเอโดะ ยุคเมจิ และยุคไทโช (Taisho) ของบรรดาศิลปินชั้นครูในโรงเรียนศิลปะ (Nanga school) ที่มีชื่อเสียงของโอะอิตะ เพียงแค่สองโซนก็สะท้อนให้เห็นศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านงานศิลปะได้แล้ว เท่ากับเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ไปในตัว นอกจากนี้ ยังมีโซนศิลปะสมัยใหม่ด้วย เช่น โซน oita’s modern Japanese painting โซน Oita’s western style paintings ฯลฯ สำหรับนิทรรศการหมุนเวียนนั้นจะหมุนเวียนไปตามแต่ละช่วง เช่น ขณะนั้นจัดแสดงชุด Modern blossoming garden จำนวน 200 ชิ้น ดังนั้น ใครมีแผนมาเที่ยวตัวเมืองโออิตะ ลองสังเกตโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์นิทรรศการศิลปะที่กระจายอยู่ทั่วเมืองในจุดสำคัญดู
Address : 2-1 Kotobuki-machi, Oita-shi, Oita-ken 870-0036 เปิดบริการ 10:00-20:00 น. ค่าธรรมเนียม 1,200 เยนสำหรับผู้ใหญ่ 900 เยนสำหรับนักศึกษา และ 500 เยนสำหรับนักเรียนประถม Phone : 097-533-4500 (ภายในพิพิธภัณฑ์ห้ามถ่ายภาพ) การเดินทาง : จาก JR Oita เดิน 15 นาที

เดินกลับเส้นทางเดิม (จะได้ไม่หลง-ฮา) ในตลาดเซนพอร์ต้าโจมะจิก็มีความร่วมสมัยเช่นเดียวกัน เพราะมีร้านเก่าแก่ และร้านใหม่ผสมผสานกันไปตลอดทางเดิน ตลาดรูปแบบนี้ถือเป็นอีกเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น คือมีสถานีรถไฟที่ไหน ย่อมต้องตลาดถนนคนเดินแบบนี้ (Shopping arcade) หรือโชเตงไก (Shotengai) อยู่ที่นั่น นับเป็นองค์ประกอบที่ทำให้สถานีรถไฟกลายเป็นศูนย์กลางของเมือง และโชเตงไกนี่เองที่เป็นแหล่งรวมสินค้านานาชนิดเพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งในตัวเมืองโออิตะก็เช่นเดียวกัน

