สถานีรถไฟในเมืองชนบทก็จะหน้าตาประมาณนี้ เมืองนี้มีขนาดเล็ก จึงมีรถประจำทางผ่านไปปราสาทชั่วโมงละคัน เจ้าหน้าที่ที่สถานีรถไฟจึงแนะนำว่านั่งแท็กซี่ไปดีไหม เพราะตอนนั้นมีผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่งที่นั่งรถไฟขบวนเดียวกันจากเบปปุกำลังจะไปร้านเช่ากิโมโนใกล้ปราสาทพอดี จะได้หารค่ารถกัน เหตุผลที่เธอต้องมาเช่าชุดกิโมโนถึงที่นี่ เพราะคิทสึกิได้ชื่อว่าเมืองกิโมโน (Historic cityscape with kimono) โดยร้านกิโมโนในเมืองนี้จะเน้นเครื่องแต่งกายที่ถูกต้องตามธรรมเนียมทุกประการ รวมทั้งร้านวะระกุอัง (Waraku-an) ที่เป็นร้านดังที่สุด ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักไม่พลาดประสบการณ์สวมชุดกิโมโนแล้วเดินเล่นชมเมืองประวัติศาสตร์ และถ่ายภาพคู่กับถนนเนินเขา
แท็กซี่จอดที่ร้านกิโมโนวะระกุอัง ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านนะกะเนะเท (Nakane-tei) ของนะกะเนะ เกะเนะมง (Nakane genemon) ซามูไรในยุคเอโดะ ตัวบ้านสร้างขึ้นราวปีค.ศ. 1862 เช่นเดียวกับบ้านซามูไรหลังอื่นๆ ในละแวกนี้ บ้านหลังนี้เป็นสถานที่จัดพิธีชงชา (Tea-ceremony room) ปัจจุบันตั้งอยู่ตรงข้ามศาลาว่าการเมืองคิทสึกิ (Kitsuki city hall) จากจุดนี้ เมื่อลองกางแผนที่ดู ตัวปราสาทอยู่อีกไกลเลย แต่ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว เพราะเมืองเงียบมากจริงๆ แทบไม่มีรถผ่านไปมาเลย จึงเดินตามแผนที่ต่อจนถึงถนนที่เป็นแนวสันเขาสูงชัน ซึ่งบางช่วงตัดเป็นถนนเนินเขา เช่น เนินฮิโตทสึยะ (Hitotsuya no saka) เนินคอนยะมะจิ (Konyamachi no saka) เนินอิวะฮะนะ (Iwahana no saka) เนินสุวะ (Suva no saka) เนินชิโอะยะ (Shioya no saka) ฯลฯ

เนินสุวะ (Suva no saka) ตั้งหันหน้าตรงข้ามเนินชิโอะยะ (Shioya no saka) ทั้งสองเนินเป็นจุดสวยที่สุดของหมู่บ้านซามูไรแห่งนี้ ซึ่งอาจมีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศที่ออกแบบผังเมืองเช่นนี้ ทำให้เนินทั้งสองเป็นจุดถ่ายรูปสำคัญของนักท่องเที่ยวที่สวมชุดกิโมโนเต็มยศ โดยมีฉากหลังเป็นถนนเนินหินสูงชัน พร้อมภาพอาคารบ้านเรือนที่ผ่านกาลเวลามานับร้อยๆ ปี เนินทั้งสองนี้ยังเป็นเส้นทางขึ้นไปสู่หมู่บ้านซามูไรในอดีตด้วย โดยเนินสุวะนำไปสู่หมู่บ้านซามูไรทางทิศเหนือของปราสาท (Kita-dai samurai residences) เนินชิโอะยะนำไปสู่หมู้บ้านซามูไรทางทิศใต้ของปราสาท (Minami-dai samurai residences) หมู่บ้านซามูไรทั้งสองทิศนี้ ยังเชื่อมต่อกับส่วนตัวปราสาทด้วย เช่นเดียวกับถ้าอยู่บนถนนสายราบก็นำไปสู่ส่วนตัวปราสาทได้เช่นเดียวกัน

จากเนินสุวะ ซึ่งเป็นถนนบนเนินเขาที่เรียงรายด้วยหมู่บ้านซะมุไร จะเชื่อมต่อกับอาคารปราสาท บริเวณนี้มีป้ายรถประจำทางด้วย โดยตัวปราสาทตัั้งอยู่บนยอดเขาอีกลูกหนึ่ง จึงต้องเดินลงเนินนี้สู่อีกเนิน ซึ่งบริเวณเชิงเขาเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเซเอง (Seien-jinja) สวนสาธารณะชิโระยะมะ (Shiroyama park) และสวนหิน (Stonework park) จนปราสาทค่อยๆ ปรากฎตัวบนยอดเขา
การที่ปราสาทโดยส่วนใหญ่มักสร้างบนยอดเขาสูงสุด อีกทั้งติดทะเล ซึ่งเป็นชัยภูมิที่ดีที่สุดของเมือง หรือหากไม่สร้างบนยอดเขา การสร้างบนพื้นราบ ก็จำเป็นต้องมีคูน้ำขนาดกว้างล้อมรอบอยู่เสมอ ทั้งนี้ เพื่อให้ภูเขา ทะเล และคูน้ำเป็นปราการป้องกันการถูกโจมตีจากข้าศึก ในยุคที่ยังมีการรบราฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจ โดยทำเลที่ตั้งนั้นยังต้องรวมกับจุดยุทธศาสตร์อื่นๆ เช่น การมีหอสังเกตการณ์ แนวระเบียงติดตั้งอาวุธ กลไกอันสลับซับซ้อนต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่พำนักภายในอาคารปราสาท ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองเมือง และบ้านเมืองในขณะนั้นมีความสงบเรียบร้อย ดังนั้น ซามูไรที่เป็นทหารคนสนิท และหมู่บ้านซามูไร จึงได้รับการออกแบบให้เป็นหนึ่งในอาคารบริวาร จนกลายมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจนถึงวันนี้
ภายในตัวปราสาทเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ซามูไรตั้งแต่ยุคมุโระมะจิเป็นต้นมา เพราะอาคารปราสาทสร้างตั้งแต่ปี 1394 ตรงกับยุคมุโระมะจิ (Muromachi ค.ศ.1338-1573) โดยคิซุกิ โยะรินะโอะ (Kizuki yorinao) ไดเมียวที่ 4 (Daimyo) แห่งตระกูลคิซุกิ (Kizuki) ผู้ปกครองเมืองขณะนั้น โดยบรรพบุรุษรุ่นที่ 1 ของท่านได้เข้ามาบุกเบิกเมืองนี้ตั้งแต่ยุคคะมะคุระ (Kamakura ค.ศ.1192-1333) จนเข้าสู่ยุคเอโดะ (Edo ค.ศ.1603-1868) คิทสึกิได้กลายเป็นเมืองรุ่งเรืองในแถบคาบสมุทรคุนิซะกิ (Kunizaki) ทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง

ภายนอกปราสาทมีจุดชมวิวบนฐานหินวงกลม ซึ่งยามบ่ายช่วงฤดูฝนนั้น ทิวทัศน์เบื้องล่างเป็นชายหาดโคลนสีน้ำตาลพร้อมอาคารบ้านเรือน และเทือกเขาสูงที่โอบล้อมอยู่ไกลออกไป เมื่อปีค.ศ. 2005 เมืองคิทสึกิได้สร้างความเป็นปึกแผ่นด้วยการรวมหมู่บ้านยะมะกะ (Yamagamachi) ในเขตฮะยะมิ (Hayami-gun) และหมู่บ้านโอะตะ (Ota) ในเขตนิชิคุนิสะกิ (Nishikunisaki-gun) เข้าด้วยกัน โดยตัวเมืองคิทสีกิตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดโอะอิตะ และทิศใต้ของคาบสมุทรคุนิสะคิ (Kunisake peninsula) เป็นเมืองเล็กที่มอัตราส่วน 4.4% ของจังหวัด หรือ 280 ตารางกิโลเมตร และประชากรมีราว 32,000 คน




กลับสู่หมู่บ้านซามูไรที่ถนนเนินสุวะ และเนินชิโอะยะ ที่เนินสุวะมีร้านมิโซะที่ตั้งอยู่ มิโสะของร้านนี้มีความพิเศษตรงที่ผลิตจากส่วนผสมหลักคือข้าวบาเล่ย์ที่นำมาผ่านกระบวนการหมักนานกว่าหนึ่งปี และมีหลายรสชาติให้เลือก พร้อมมีให้ชิมด้วย ทุกสูตรเป็นสูตรโฮมเมดแบบดั้งเดิมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1900 เป็นร้านโด่งดัง และเก่าแก่ของเมือง ตัวอาคารสร้างในยุคเอโดะ ซึ่งภายนอกภายในยังรักษาบรรยากาศความเก่าไว้ เช่น การตกแต่งด้วยไม้ระแนง พื้นปูเสื่อทะทะมิ (Tatami) โต๊ะทำบัญชีล้อมรั้วไม้ พร้อมลูกคิดไว้ดีดคิดเลข ฯลฯ ล้วนแต่งเติมเมืองนี้ให้มีเสน่ห์มากขึ้น สำหรับมิโสะเป็นหนึ่งในวัตถุดิบปรุงอาหารญี่ปุ่นที่สำคัญ นิยมนำมาทำซุป เรียกว่า “ซุปมิโสะ” เครื่องเคียงที่ขาดไม่ได้สำหรับข้าวหน้าต่างๆ หรือแม้แต่ซูชิ โดยเติมเต้าหู้หั่นลูกเต๋าลงไป หรืออาจจะเป็นหอยอะสะริ (Asari) ตัวจิ๋ว โรยด้วยหัวหอมญี่ปุ่นซอย แค่นี้ก็อร่อยเหาะแล้ว รวมทั้งราเมงซุปมิโสะก็อร่อย และเป็นที่นิยมไม่แพ้ซุปรสใดๆ

เช่นเดียวกับเนินชิโอะยะตรงปากทางขึ้นเนินมีร้านขนมหวานญี่ปุ่น (Wagashi) เช่น ไดฟุกุ (Daifuku) ขนมสวยงามน่ากินสารพัดแบบ เช่น ไดฟุกุ (Daifuku) ที่แป้งข้าวเหนียวเป็นส่วนผสมหลักสอดไส้ถั่วแดงกวนนำไปนึ่ง มันจู (Manjyu) ขนมจากแป้งมันเทศสอดไส้ถั่วกวนนำไปอบ โยกัง (Yokan) ขนมที่มีวุ้นสาหร่ายทะเล (Kanten) เป็นส่วนผสมหลัก ทั้งแบบใสผสมเนื้อผลไม้ต่างๆ (Mizu yokan) และแบบขุ่นที่เนื้อเหนียวกว่า (Mushi yokan) นิยมกินในช่วงฤดูร้อน เพราะช่วยให้สดชื่นขึ้น รวมเยลลี่เคลือบเกล็ดน้ำตาล เค้กฝรั่ง เช่น ชีสเค้ก ครีมพัฟ ขนมปังกรอบ (Wafer) ข้าวเกรียบ (Sembei) ฯลฯ แต่ขนมที่โด่งดังของร้านคือโมะนะกะ (Monaga) ขนมปังกรอบบางจากส่วนผสมหลักคือข้าวเหนียวสอดไส้ถั่วดำกวน จุดเด่นคือถั่วดำเข้าจากเกาะฮอกไกโด


บนเนินสุวะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประถมคิทสึคิ (Kitsuki kindergarten) หากเดินลงมาตามเนินที่ต่ำลงเรื่อยๆ เบื้องหน้าคือเนินชิโอะยะที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออยู่บนถนน โรงเรียนเลิกพอดี จึงได้เห็นภาพเด็กๆ วิ่งบ้างเดินบ้างลงจากเนินเขาสุวะสู่เนินเขาชิโอะยะ เสน่ห์ของเมืองคิสึคิจึงไม่ได้มีเพียงปราสาทหลังเล็กบนยอดเขาริมทะเล และหมู่บ้านซามูไรที่ผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปี แต่เป็นปัจจุบันที่ผสมกลมกลืนกับประวัติศาสตร์ได้อย่างลงตัว สวยงาม และมีชีวิตชีวา

