เกาะคิวชูเป็นเกาะแบบไหน
ภูมิภาคคิวชูเป็น 1 ใน 8 ภูมิภาค และ 1 ใน 4 เกาะหลักของประเทศญี่ปุ่น (อีก 3 เกาะ คือเกาะฮอกไกโด เกาะฮอนชู และเกาะชิโคะคุ) ประกอบด้วย 8 จังหวัด หากแบ่งตามพาสโดยสาร (๋JR Kyushu Pass) แล้ว จะแบ่งเป็นตอนเหนือกับตอนใต้ ตอนเหนือมี 5 จังหวัด ได้แก่ ฟุคุโอะกะ ซะกะ นะงะสะกิ คุมะโมะโตะ และโอะอิตะ ตอนใต้มี 3 จังหวัด ได้แก่ คะโงะชิมะ มิยะสะกิ และโอะกินะวะ เนื่องจากเกาะเคิวชูตั้งอยู่ทางตอนใต้ ทำให้ภูมิอากาศอบอุ่น และมีฝนตกชุกมากกว่าภูมิภาคใดๆ นอกจากนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเป็นแหล่งภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ และมีแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติติดอันดับโลก ถ้าจะให้บอกว่าเกาะคิวชูเป็นเกาะแบบไหน และมีลักษณะโดดเด่นอย่างไร ก็ต้องบอกผ่านความมหัศจรรย์ต่างๆ เหล่านี้
มหัศจรรย์ดินแดนแห่งสายฝน และดอกอะจิไซ


ญี่ปุ่นมี 4 ดูกาล คือฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ส่วนฤดูฝนไม่รวมเป็นหนึ่งในฤดูกาลด้วย เนื่องจากฝนตกในช่วงเวลาสั้นๆ จากอิทธิพลของมรสุมในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิต่อกับต้นฤดูร้อน ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการบัญญัติศัพท์ไว้เช่นกัน โดยเรียกว่า “ทสึยุ” (Tsuyu) และบนเกาะคิวชูแห่งนี้ก็เป็นดินแดนที่ฝนตกมากเป็นพิเศษโดยทุกพื้นที่จะชุ่มฉ่ำไปด้วยสายฝน พร้อมๆ กับการเบ่งบานของดอกอะจิไซ (Ajisai) หรือดอกไฮเดรนเยีย (Hydrengea) ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของฤดูฝนไปโดยปริยาย
มหัศจรรย์แหล่งวัฒนธรรมตะวันตกผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรม และอาหารการกิน


เกาะคิวชูมีวัฒนธรรมผสมผสานอย่างเด่นชัด เนื่องจากในยุคปิดประเทศ (ยุคเอะโดะปลายศตวรรษที่ 16) นะงะสะกิเป็นจังหวัดเดียวที่เปิดท่าเรือพาณิชย์ค้าขายกับชาวยุโรป และเอเชีย โดยชาติแรกๆ ได้แก่ ฮอลแลนด์ โปรตุเกส และจีน ทำให้เป็นดินแดนที่รับวัฒนธรรมตะวันตก และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียเป็นที่แรกของประเทศ เห็นได้จากวัฒนธรรมขนม และอาหารที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนะงะสะคิ โดยเฉพาะคัสเทลลา ซึ่งเป็นเค้กไข่หวานฉ่ำ นุ่มเหนียวหนึบ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส รวมทั้งโมะโมะคัสเทระ หรือคัสเทระลูกพีช (โมะโมะแปลว่าลูกพีช) ซึ่งประดับอยู่หน้าเค้กในรูปแบบผลึกน้ำตาลตามความเชื่อของชาวจีนว่าเป็นผลไม้มงคล ส่วนอาหารคาว เช่น สะระอุด้ง (Saraudon) และจัมปง (Champon) ก็ดัดแปลงจากจีนเช่นเดียวกัน จนเมื่อมีการเปิดประเทศ และเปิดท่าเรือพาณิชย์นานาชาติในยุคเมจิอย่างเป็นทางการในศตวรรษที่ 18 ยิ่งทำให้วัฒนธรรมขนม-อาหารมีการเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งชุมชนชาวต่างชาติ และอาคารตะวันตกต่างๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากเพื่อค้าขาย จนเกิดหมู่บ้านตะวันตกขึ้นในเมืองท่าเรือต่างๆ ซึ่งยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน


มหัศจรรย์แหล่งอารยธรรม

การที่ปราสาทยังคงความงดงามอยู่ได้ เป็นผลมาจากรัฐบาลเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงได้อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลัง พร้อมกับสร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยว เพื่อบอกชาวต่างชาติว่านี่คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ดังนั้น ตามเมืองต่างๆ จึงมีปราสาทที่สวยงามเสมอ ซึ่งในอดีตคือที่พำนักของผู้ปกครองเมือง และบนเกาะคิวชูก็มีปราสาทที่สวยงามหลายหลัง เช่น ปราสาทคะรัทสึ (Karatsu castle) เมืองคะรัทสึ จังหวัดซะกะ ปราสาทคิทสึคิ (Kitsuki castle) เมืองคิทสึกิ จังหวัดโอะอิตะ รวมทั้งปราสาทคุมะโมะโตะ (Kumamoto castle) ซึ่งแม้จะเกิดภัยพิบัติ และอยู่ระหว่างฟื้นฟู แต่ยังทรงคุณค่า และเป็นปราสาท 3 อันดับแรกในญี่ปุ่นที่ต้องมาชมให้ได้ในชีวิต เนื่องจากมีขนาดใหญ่ และคงรูปแบบดั้งเดิมไว้นั่นเอง
มหัศจรรย์แหล่งธรณีวิทยา

ภูเขาไฟอะโสะ จังหวัดคุมะโมะโตะ มีความมหัศจรรย์อยู่ที่ปากปล่องภูเขาไฟ ซึ่งเป็นทรงแอ่งกระจาด (Caldera) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และบริเวณแอ่งประกอบด้วยยอดเขาทั้ง 5 โดย 1 ใน 5 นั้นยังคงปะทุ จึงได้ชื่อว่าภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ (Aso is alive) ปัจจุบันบริเวณปากปล่องสามารถขึ้นไปชมได้แล้วด้วย Shuttlebus หรือเช่ารถขับขึ้นไปเองก็ได้ หลังจากปิดบริการเมื่อมีการปะทุครั้งใหญ่ในปีค.ศ. 2016 (สถานีรถกระเช้ายังปิดบริการอยู่) โดยผลพวงจากการเป็นภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งธรณีวิทยานี่เอง จึงเป็นแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีปริมาณมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกด้วย ที่เมืองเบปปุ จังหวัดโอะอิตะ และมีกระจายอยู่ทั่วในเมืองต่างๆ รวมถึงบ่อโคลน บ่อทรายร้อน ฯลฯ ตลอดจนอาหารทะเลที่ได้จากการนึ่งด้วยน้ำพุร้อนธรรมชาติ จึงเป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่ควรมาสัมผัสด้วยตัวเอง

มหัศจรรรย์ความน่ารัก

ความน่ารักมุ้งมิ้งที่นำเสนอผ่านความน่ารักสดใสผ่านขบวนรถไฟ และทูตประจำจังหวัดคุมะโมะโตะ ความมหัศจรรย์เหล่านี้ คงเพียงพอแล้วที่จะทำให้เราอยากเก็บกระเป๋าไปเที่ยวเกาะคิวชูกัน แต่จะไปอย่างไรด้วยตัวเอง ก็ต้องมี tips ดีๆ ในการวางแผนเที่ยวสิ