เมื่อกินโซบะส่งท้ายปีเพื่อชีวิตยืนยาวแล้ว ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นยังมีธรรมเนียมนับถอยหลังสู่ปีใหม่ด้วยการไปวัด และศาลเจ้าด้วย เพราะจะมีกิจกรรมตีระฆังส่งท้ายปีเพื่อขับไล่กิเลส ก่อนข้ามสู่ปีใหม่อย่างไฉไล ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมนี้ ขณะที่จำนวนไม่น้อยก็มาสนุกสนาน ณ แยกชิบุยะ (Shibuya Crossing) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งย่านเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะหน้าสถานีรถไฟชิบุยะ (JR Shibuya) จากทางออกฮะจิโกะ (Hachiko)


แยกชิบุยะมีลักษณะเด่นคือผังเมือง ซึ่งหากมองจากมุมสูงจะเห็นพื้นที่ 4 แยกไฟแดงขนาดใหญ่ โดยตั้งอยู่เหลื่อมกัน แต่ละแยกจะมีทางม้าลายเดินข้ามไปอีกฟากได้ รวม 4 เส้น พร้อมเส้นที่ 5 คือเส้นทะแยง โดยช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น ตอนเย็นหลังเลิกงานจะมีภาพฝูงชนนับร้อยนับพันเดินสวนกันไปมา เป็นภาพที่ตื่นตามาก ทุกครั้งที่มาโตเกียว ก็อดไม่ได้ที่จะต้องมาเดินข้ามทางม้าลายให้ได้ทุกครั้ง เพื่อรำลึกความหลังเมื่อครั้งมาโตเกียวครั้งแรก

หลายปีก่อนนั้นที่แยกชิบุยะแห่งนี้เคยมีจุดถ่ายภาพอยู่บนสะพานลอยเดินข้ามระหว่างสถานีรถไฟกับอาคารอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งบนสะพานนี่เองมักจะมีนักท่องเที่ยว และบรรดาช่างภาพพร้อมอุปกรณ์มารอคอยที่จะบันทึกภาพผู้คนเดินข้ามทางแยกนี้ จนกีดขวางการสัญจรขึ้น ในที่สุดจึงต้องติดฟิมล์บริเวณกระจกช่องหน้าต่าง เพื่อตัดปัญหาไม่ให้เป็นจุดถ่ายภาพอีกต่อไป
นี่คือผลพวงจากความโด่งดังของแยกชิบุยะ แยกไฟแดงหนึ่งเดียวในโลก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นจุดท่องเที่ยวหลักไปแล้วเรียบร้อย เพราะเพียงได้มาเดินข้ามทางม้าลาย พร้อมๆ กับถ่ายรูปถ่ายคลิปในท่ามกลางความเคลื่อนไหวของฝูงชน แค่นี้ก็รู้สึกว่ามาได้ถึงมหานครโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่นแล้ว
แยกชิบุยะจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ยุคใหม่ของมหานครโตเกียว ซึ่งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา ขณะเฉลิมฉลองปีรัชศกใหม่ คือรัชศกเรวะ (Reiwa) ชาวญี่ปุ่นก็ได้ออกมารวมตัวกันเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันพิเศษนี้ ณ แยกชิบุยะในท่ามกลางสายฝน
ยิ่งมืดลงคนยิ่งแน่นขนัด จนปิดถนนปุ๊บ ผู้คนก็เข้มาจับจองที่ยืนจนเต็มพื้นที่ทางแยกทั้งหมดส่วนการเคาน์ดาวน์จาก 2018 สู่ 2019 บรรยากาศในวันนั้นก็สุดจะคึกคัก ตั้งแต่ช่วงเย็นมาเลย เป็นความรู้สึกที่ชอบมากๆ อารมณ์ประมาณไปดูคอนเสิร์ตวงโปรดอย่างไรไม่รู้ เพราะผู้คนมากมายมหาศาล จนตำรวจต้องมาช่วยจัดระเบียบการเดินข้ามถนน จึงได้ยินแต่เสียงนกหวีดดังเกือบตลอดเวลาตอนไฟเขียวไฟแดง กระทั่งปิดถนนในช่วงหัวค่ำ และกองกำลังตำรวจได้เข้าควบคุมพื้นที่ทั้งหมด พร้อมรถพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่มาจองที่ยืนแต่ไกโห่

แยกชิบุยะมีคาเฟ่ 2 ร้าน ที่เห็นทิวทัศน์แยกนี้เต็มตา คือร้านกาแฟสตาร์บัคส์ (Starbucks) และคาเฟ่ล็อกซิทานโดยปิแอร์ แอร์เม่ (L’Occitane Café by Pierre Herme) สำหรับสตาร์บัคส์ชิงปิดบริการก่อนตั้งแต่สองทุ่ม ไม่เช่นนั้นร้านอาจแตก เพราะนักท่องเที่ยวจะต้องพยายามแทรกตัวเข้ามา ส่วนล็อกซิทานก็คิวยาวจนต้องวัดใจกันเลยทีเดียว แต่รอคิวเพียงหนึ่งชั่วโมงชิลๆ จึงได้ที่นั่งริมหน้าต่าง (ไม่สามารถจอง หรือเลือกที่นั่งได้) ขณะชมวิวอันขวักไขว่เบื้องล่างก็เอร็ดอร่อยกับเซ็ตขนมหวานจากผลงานของเชฟแอร์เม่ (Pierre Herme) ที่กล่าวกันว่าเขามีชื่อเสียงที่สุดในโลก ขนมในเซ็ตรวมเครื่องดื่มราว 3,000 เยน ประกอบด้วยไอศกรีมราสเบอร์รี่รสเปรี้ยวกับวานิลลารสหวานนุ่ม ซึ่งเข้ากันดีกับครีมบลูเล่ หรือเค้กคัสตาร์ดลนไฟ เค้กทิรามิสุ และเค้กมูสช็อคโกแลต

เมื่อร้านปิดตอนห้าทุ่มก็ใกล้เวลานับถอยหลังพอดี เบียดเสียดผู้คนจนเข้าไปยืนตรงกึ่งกลางได้ นับเป็นประสบการณ์ที่เหลือเชื่อมาก เพราะเป็น “งาน – ที่ไม่มีการจัดงาน” มีเพียงจอแอลซีดียักษ์ฉายหนังโฆษณาของเหล่าผู้สนับสนุน (ฮา) จนใกล้เวลาสำคัญ โคคาโคล่าเหมาช่วงเวลานี้ไปจนถึง 60 วินาทีสุดท้าย ทุกคนจึงร่วมนับถอยหลังอย่างกึกก้องตามภาพบนจอ เพื่อก้าวสู่วันใหม่ของปี 2019 ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งของแยกชิบุยะแห่งนี้ได้ว่ามีพลังมากเพียงใด

แยกชิบุยะยังมีอีกหนึ่งสัญลักษณ์ห้ามพลาดคือรูปปั้นน้องหมาฮะจิโกะ (Hachiko) จากทางออกฮะจิโกะ (Hachiko Exit) ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมุงกันแน่นขนัดตลอดเวลาเพื่อรอคิวถ่ายรูปกับน้องหมา จึงเป็นภาพความสุขที่ใครเห็นแล้วต้องหยุดดู แม้ว่าเรื่องราวความเป็นมาของรูปปั้นนี้จะมิอาจกลั้นน้ำตาได้ก็ตาม

