ย้ายจากเมืองมัทสึโมโตะ จังหวัดนะงะโนะ สู่เมืองโยะโกะฮะมะ จังหวัดคะนะงะวะ ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือพาณิชย์นานาชาติตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และอยู่ห่างจากโตเกียวเพียง 30 นาทีด้วยชิงคันเซ็ง ทำให้หลายคนเรียกท่าเรือโยะโกะฮะมะว่าท่าเรือโตเกียว โดยผลจากการเป็นเมืองท่าเรือ ซึ่งต้องติดต่อค้าขายกับต่างชาติ ทำให้เป็นดินแดนที่เปิดรับวัฒนธรรมจากต่างแดน ทั้งตะวันตก และตะวันออก เห็นได้จากชุมชนตะวันตก และชุมชนจีน หรือไชน่าทาวน์ (China Town) โดยทั้งสองชุมชนตั้งอยู่ในรัศมีที่เดินถึงบริเวณอ่าวโยะโกะฮะมะ (Yokohama Bayside Area) อันเป็นย่านเศรษฐกิจหลักของเมืองได้อย่างสบายๆ

เริ่มจากเช้าตรู่ เมื่อเปิดผ้าม่านหน้าต่างห้องพักก็ได้พบกับภูเขาไฟฟูจิที่ยอดปกคลุมด้วยหิมะ เนื่องจากเป็นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสดี จากนั้นจึงเดินไปย่านชุมชนจีน หรือไชน่าทาวน์ (China Town) ด้วยการเดินจากสถานีรถไฟอิชิงะวะโจ (JR Ishigawacho) ผ่านซุ้มประตูชั้นนอก จนเข้าสู่ประตูชั้นใน ซึ่งบรรยากาศกำลังคึกคักด้วยผู้คนหลากหลายวัยที่ใช้ไม้เซลฟี่ถ่ายรูปกับป้ายซุ้มประตูอย่างไม่ลดละ


ชุมชนจีนแห่งนี้ได้สะท้อนถึงการเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ซึ่งส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์คือการอพยพหนีความแร้นแค้นมาแสวงหาแผ่นดินใหม่ที่ดีกว่า ทำให้ชุมชนจีนกระจายอยู่ทั่วโลก และได้ประกาศความเกรียงไกรด้วยการรักษาขนบธรรมเนียมไว้ นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นประเทศกว้างใหญ่ มีหลายภูมิภาค จึงส่งผลต่อวัฒนธรรมอาหารให้มีความแตกต่าง หลากหลาย และพัฒนาต่อไปได้ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการท่องเที่ยวที่ดี


ในบรรดาอาหารจีนนั้น อาหารปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเสฉวน เป็นที่ยกย่องว่าโอชะที่สุด ซึ่งชุมชนจีนแห่งนี้มีบริการครบครัน จึงเป็นสวรรค์ของนักกินโดยแท้ และยังทำให้ชุมชนจีนแห่งนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกด้วย เพราะเรียงรายด้วยร้านอาหารจีนกว่า 600 ร้าน บนพื้นที่ 2.5 แสนตารางเมตร ตั้งแต่ร้านติ่มซำที่ควันขึ้นโขมงไปจนถึงภัตตาคารระดับสูง หรือแม้แต่ร้านขายของจิปาถะที่พ่อค้าแม่ค้าส่งเสียงเชิญชวนให้เข้าไปอุดหนุนไม่ขาดสาย

บรรยากาศเช่นนี้ทำให้ทุกคนตระหนักว่านี่คือเอกลักษณ์ของชุมชนจีน และยังเป็นชุมชนจีน 1 ใน 3 ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นด้วย โดยอีกสองแห่งอยู่ที่เมืองโกเบ (Kobe) จังหวัดเฮียวโงะ (Hyogo) และเมืองนะงะซะกิ (Nagasaki) จังหวัดนะงะซะกิ ความจริงก็ไปมาครบแล้วทั้ง 3 ที่ แต่ที่นี่ละลานตากว่าตรงป้ายไฟแสงสีแพรวพราว โดยเฉพาะโคมไฟมังกรที่เลื้อยตลอดถนน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งบอกการตกทอดทางวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบันได้ดี

ในจำนวนอาหารจีนขึ้นชื่อ เสี่ยวหลงเปาตำรับเซี่ยงไฮ้ถือเป็นสิ่งห้ามพลาด ซึ่งหนึ่งในร้านดังที่คิวยาวจนตรึงสายตาผู้คนคือร้านโฮเตนกะกุ (Houtenkaku) ที่ขายเสี่ยวหลงเปาแบบทอด และนึ่ง แต่แบบทอดจะขึ้นป้ายหน้าร้านใหญ่โตมาก แถมตั้งกระทะทอดหน้าร้านเลย ส่วนด้านในเป็นครัวเปิดที่สามารถชมขั้นตอนการปั้นตั้งแต่ต้นจนจบได้จากส่วนยืนกิน ขณะที่ชั้นบนเป็นร้านอาหาร จึงมีนักกินเดินขึ้นลงขวักไขว่ตลอดเวลา

ไส้ของเสี่ยวหลงเปามี 3 แบบ คือไส้ปูกับหมูสับมิโสะ ไส้หอยเชลล์กับหมูสับ และไส้หมูสับ ทั้ง 3 ไส้ นักกินจะไม่สามารถเลือกได้ อยู่ที่คิวในครัวจะปั้นไส้อะไรส่งมาให้หน้าร้านทอด เมื่อยืนต่อคิวจนถึงตัวเองเมื่อไหร่ ก็แปลว่าไส้นั้นแหละ ส่วนวิธีการทอดจะคล้ายเกี๊ยวซ่า คือทอดด้วยน้ำมันในกระทะ แต่ปิดฝาอบไว้ พอเปิดฝาออกมา ผิวด้านล่างจะกรอบจากการทอด ส่วนด้านบนจะนุ่มจากการอบ เพราะด้านในเสี่ยวหลงเปาเป็นซุปใส ส่วนไส้ที่ได้จากการยืนต่อคิวนานกว่า 30 นาที คือไส้หอยเชลล์กับหมูสับ ซึ่งห่อด้วยแป้งที่นุ่มเหนียว โดยบริเวณยืนรับประทานในร้านจะมีเครื่องปรุงวางเรียงไว้ให้ ทั้งซอสเปรี้ยว และน้ำมันงาแบบเผ็ด
ตอนกินก็ใช้ตะเกียบเจาะบนผิวเสี่ยวหลงเปา แล้วดื่มซุปร้อนๆ ก่อนเติมเครื่องปรุง แล้วรับประทานทั้งคำโตๆ เลย 4 ลูก ในราคา 760 เยน ถือว่าคุ้มค่า และฟินาก โดยเฉพาะเป็นคิวที่สองตอนเปิดฝากระทะพอดีด้วย ภาพเสี่ยวหลงเปาเต็มกระทะ ก่อนโรยด้วยงาขาว และต้นหอมซอย ยังติดตามาจนถึงวันนี้ ทำให้นักกินจำนวนมากยืนเรียงแถวบนฟุตปาธบริเวณหน้าร้านเพื่อเอร็ดอร่อยกันท่ามกลางอากาศที่เย็นจัดราว 4 องศาเซลเซียส

อีกร้านหนึ่งคือตงฟา (Tung Fat) ซึ่งชั้นล่างมีตู้เรียงรายด้วยขนมหวาน โดยเมนูขายดีอันดับหนึ่งคืออันนินโดฟุ (Annin Doufu) หรือพุดดิ้งนมอัลมอนด์ตกแต่งด้วยเมล็ดเก๋ากี๊ ถ้วยละ 370 เยน เป็นขนมที่มีรสชาติคล้ายสะเกะหวานของญี่ปุ่น หรืะอะมะซะเกะ (Amazake) ทั้งนุ่ม เย็น และสดชื่น จึงมีนักกินต่อคิวยาวอีกเหมือนกัน ดังนั้น การเที่ยวญี่ปุ่นให้สนุก จึงต้องยืนรับประทานได้ (ห้ามเดินรับประทาน บางเมืองออกกฎหมายแล้ว) ต้องต่อคิวได้ (ตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไป) และเดินไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้ (ตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไป)


